การลงทุน

การลงทุนคืออะไร?

เชื่อว่าหลายคนต้องเคยได้ยินคำว่า “การลงทุน” ตามโฆษณา รายการวิทยุ หรือแม้กระทั่งเว็บไซต์ของธนาคารอย่างแน่นอน แต่เชื่อว่ายังมีบางส่วนที่ยังไม่เข้าใจความหมายของการลงทุนที่ชัดเจนว่าคืออะไรกันแน่ ลงทุนไปแล้วจะได้อะไรกลับมา รวมถึงความเสี่ยงที่จะตามมาเมื่อลงทุนไปอีกด้วย ซึ่งวันนี้เราจะพาคุณไปรู้จักกับความหมายของ “การลงทุน” ให้คุณเข้าใจในทุกประเด็นคำถาม

ความหมายของการลงทุน

การลงทุนคือ การการนำทรัพย์สินที่มีอยู่ ไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นในอนาคต แต่ผู้ลงทุนก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะตามมาด้วยเช่นกัน

โดยการลงทุนไม่ใช่แค่การนำสินทรัพย์ไปลงทุนแล้วจะได้รับผลตอบแทนกลับมาอย่างง่ายดาย ซึ่งแท้จริงแล้วการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงตั้งแต่ระดับความเสี่ยงต่ำ ไปจนถึงระดับความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูล และพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดหวัง และช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในการลงทุน

โดยในปัจจุบันนั้น สามารถแบ่งการลงทุนได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

การลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน(Intangible Investment) เป็นการลงทุนที่ผู้ซื้อมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการถือกรรมสิทธิ์ในตราสารเหล่านี้ไว้ เช่น หุ้น พันธบัตร กองทุนรวมประเภทต่างๆ

การลงทุนในสินทรัพย์ที่จับต้องได้ (Tangible Assets) เป็นการลงทุนที่ผู้ลงทุนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินที่เราเป็นเจ้าของไว้ได้อย่างเต็มที่ เช่น การซื้อบ้าน อาคาร ที่ดิน ทองคำ และเครื่องประดับต่างๆ

ความสำคัญของการลงทุน

การลงทุนเป็นการทำให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนมีรายได้ทั้งในรูปแบบของ ดอกเบี้ย เงินปันผล ราได้จากการค่าเช่าอาคาร-ที่ดินต่างๆ นอกจากนี้ยังมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศด้วย เพราะเงินที่ลงทุนมานั้น จะหมุนเวียนไปยังผู้ขาดแคลนเงินทุน เพื่อพัฒนาหรือขยายธุรกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างแรงงาน และส่งผลต่อเนื่องไปถึงภาคธุรกิจส่วนอื่นๆ ซึ่งภาครัฐยังสามารถนำเงินลงทุนไปใช้หมุนเวียนในการพัฒนาประเทศต่อได้อีกด้วย

ผลตอบแทนจากการลงทุน (Return from Investing)

แน่นอนว่าการที่เราตัดสินใจลงทุน ก็เพราะคาดหวังผลตอบแทน (Returns) จากการลงทุนนั้นๆ แต่บางครั้งผลที่ออกมาก็ไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ ดังนั้นผู้ลงทุนจึงต้องเข้าใจและยอมรับความเสี่ยง (Risks) จากการลงทุนที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนนั้นก็มีหลากหลายแบบ ได้แก่

ค่าเช่า (Rent) เมื่อเรานำทรัพย์สินที่ลงทุนไป ไปปล่อยให้ผู้อื่นเช่า ก็จะทำให้เรามีรายได้เพิ่มตามจากการให้เช่าทรัพย์สินดังกล่าว เช่น ที่ดิน บ้าน อาคารที่อยู่อาศัย เป็นต้น

รายได้ตามปกติ (Current Income) กรณีที่เราลงทุนในการซื้อพันธบัตร ตราสารหนี้ หรือหุ้นต่างๆ เมื่อถึงกำหนดเวลาเราก็จะได้รับดอกเบี้ยหรือเงินปันผลตามที่บริษัทได้ระบุไว้

กำไรจากการซื้อ-ขายหุ้น (Capital Gains) เมื่อเราลงทุนซื้อหุ้นใดๆ ไว้ แล้วหุ้นดังกล่าวนั้นมีราคาสูงขึ้น และเราได้ทำการขายออกไป ก็จะทำให้เราได้กำไรจากผลต่างของราคาหุ้นดังกล่าว

ผลตอบแทนอื่นๆ (Others) หากซื้อหุ้นสามัญ เราก็จะมีสิทธิออกเสียงในการเลือกคณะกรรมการของบริษัท และถ้าถือหุ้นไว้มากพอ ก็จะมีโอกาสได้รับเลือกเป็นผู้บริหาร และมีสิทธิในการซื้อ-ขายหุ้นใหม่ได้ในราคาพิเศษ

ลงทุนเท่าไหร่ เหมาะสมที่สุด?

แน่นอนว่าการลงทุนคือการนำสินทรัพย์ หรือเงินที่เรามีอยู่แล้ว ไปลงทุนกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง แต่หากเรานำเงินที่มีอยู่ทั้งหมดไปลงทุน อาจทำให้คุณประสบปัญหาสภาวะการเงินไม่คล่องตัว และในขณะเดียวกันหากนำเงินไปลงทุนน้อยเกินไป ก็อาจทำให้พลาดโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ได้เช่นกัน ดังนั้นการจัดสรรเงินที่เหมาะสมจะทำให้เราได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สมดุลกัน

โดยการจัดสรรเงินลงทุนควรเป็นเงินส่วนที่เกินจากเงินออม และเงินสำรอง เพราะหากสูญเสียเงินทุนไป อย่างน้อยก็จะยังมีเงินส่วนนี้ไว้คอยใช้จ่าย ซึ่งก่อนจะตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนก็ควรจัดสรรเงินออม และเงินสำรองในจำนวนที่เพียงพอต่อการใช้จ่ายประมาณ 3-6 เดือนไว้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสภาวะการเงินติดขัด

คุณเป็นนักลงทุนแบบไหน

แน่นอนว่าสำหรับบางคน การลงทุน แทบจะกลายเป็นอาชีพ หรือแหล่งรายได้หลักเลยก็ว่าได้ แต่บางส่วนก็เพียงแค่ต้องการลงทุนเพื่อรับผลตอบแทนที่สมควรกับเงินลงทุนเช่นกัน ซึ่งนักลงทุนสามารถแบ่งออกมาได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

1. นักลงทุนประเภทรอรับผล (Passive Investor)

นักลงทุนกลุ่มนี้มักจะหลีกเลี่ยงการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง และยอมรับอัตราผลตอบแทนในระดับต่ำได้ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักจะมอบหมายหน้าที่ในการจัดการลงทุนให้แก่ผู้เชี่ยวชาญมากกว่าลงทุนด้วยตัวเอง

2. นักลงทุนประเภทมุ่งหวังผล (Active Investor)

เป็นกลุ่มนักลงทุนที่ชื่นชอบความเสี่ยงมากกว่าความมั่นคงในการลงทุน และมีความคิดว่า หากสูญเสียเงินลงทุนไปแล้ว ก็สามารถสร้างใหม่ได้ ซึ่งนักลงทุนกลุ่มนี้มักจะจัดการลงทุนด้วยตัวเอง และคาดหวังผลตอบแทนสูง

หากคุณเป็นนักลงทุนมือใหม่ ที่ยังไม่เชี่ยวชาญในการลงทุนมากนัก แน่นอนว่าการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงก็คงไม่เหมาะสมสักเท่าไหร่ หากต้องการลงทุนจริงๆ ก็ควรปรึกษาหรือขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญก่อนจะดีกว่า หรือจะลงทุนในการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำให้เชี่ยวชาญก่อนก็ได้เช่นกัน

“การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุน” คงจะเป็นประโยคทิ้งท้ายที่เราคุ้นชินกันดีในทุกโฆษณาที่เกี่ยวกับการลงทุน ซึ่งแน่นอนว่า หากผู้ลงทุนไม่มีความรู้ในการลงทุน ความเสี่ยงที่ต้องเจออยู่แล้วในการลงทุนก็จะเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ก่อนจะตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนเสมอ เพื่อให้ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมในระดับความเสี่ยงต่ำ และเพื่อให้การลงทุนของคุณมีประสิทธภาพที่สุด

เลือกลงทุนแบบไหน ให้เหมาะกับคุณ

หากพูดถึงเรื่องการลงทุน หลายคนคงจะนึกถึงผลตอบแทนจากการลงทุนที่ควบคู่มากับอัตราความเสี่ยงสูง แต่ในสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่คล่องตัวแบบนี้ ความเสี่ยงจากการลงทุนที่ผู้ลงทุนจะต้องเผชิญ ก็คงเป็นเรื่องที่เหล่าผู้ลงทุนไม่ค่อยอยากจะรับมือด้วยสักเท่าไหร่ แต่แท้จริงแล้ว การลงทุน ไม่ได้มีแค่การซื้อหุ้นที่มีราคาแปรผันตามตลาดหุ้นเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายตัวเลือกในการลงทุน ให้คุณเลือกลงทุนได้เหมาะสมที่สุด และเราได้รวบรวมตัวเลือกการลงทุน เพื่อให้คุณพิจารณาได้ง่ายขึ้นว่า คุณเหมาะกับการลงทุนแบบไหน?

1. ฝากเงินกับธนาคาร

ตัวเลือกนี้คงเป็นการลงทุนที่ทุกคนคุ้นเคย แต่อาจจะยังไม่รู้ว่าการฝากเงินก็เป็นหนึ่งในประเภทการลงทุนเช่นกัน และถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยการฝากเงินนี้รวมทั้ง การฝากแบบออมทรัพย์ ฝากประจำ และการซื้อสลากออมสิน ซึ่งโอกาสที่จะสูญเสียเงินต้นไปนั้นมีน้อยมากๆ แต่อาจจะได้รับผลตอบแทนน้อยกว่าการลงทุนประเภทอื่นด้วยเช่น เหมาะกับคนที่ไม่ชอบความเสี่ยงสูงและต้องการเห็นผลในระยะสั้นๆ คนที่เพิ่งเริ่มวางแผนการเงิน และต้องการความมั่นคงในการบริหารจัดงาน

2. ซื้อทองคำ

เป็นการลงทุนที่มีระดับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการฝากเงินเล็กน้อย เพราะการลงทุนประเภทนี้หากไม่ศึกษา หรือติดตามข่าวสารให้ดี ก็อาจจะทำให้ได้เงินต้นคืนไม่ครบ หรือไม่ได้คืนเลย การซื้อทองคำที่มีราคาแปรผันตามกลไกการตลาด ผู้ที่ต้องการลงทุนในการซื้อทองคำ ควรติดตามข่าวสารเกี่ยวกับราคาทองคำที่มีการเปลี่ยนแปลงแทบจะทุกวัน ศึกษาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการซื้อ-ขาย และควรพิจารณาสภาพคล่องทางการเงินและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นก่อนตัดสินใจลงทุนเสมอ เพราะหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินในเวลาที่ราคาทองคำลดต่ำมาก ก็จะเป็นการขาดทุนไปอย่างน่าเสียดาย

3. ซื้อตราสารหนี้ หรือปล่อยเงินกู้

เป็นอีกหนึ่งการลงทุนที่มีความเสี่ยงเทียบเท่ากับการซื้อทองคำ ซึ่งหากคุณต้องการลงทุนในตราสารหนี้ หรือปล่อยเงินให้กู้ ควรจะพิจารณาความน่าเชื่อถือ สภาพคล่อง และตรวจสอบประวัติของบุคคล หรือองค์กรที่ต้องการลงทุน/ปล่อยกู้ให้ก่อนเสมอ และผู้ลงทุนเองก็ควรมีความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับตราสารหนี้และการปล่อยกู้ด้วยเช่นกัน

4. กองทุนรวม

การลงทุนประเภทนี้เป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงในระดับปานกลาง แต่เราจะไม่สามารถเข้าไปควบคุมใดๆ ได้ เพราะกองทุนรวมเป็นการระดมเงินลงทุนจากผู้ลงทุนหลายๆ คนเพื่อนำไปบริหารจัดการให้ธุรกิจนั้นเกิดรายได้และผลกำไร ซึ่งการจัดการทุกอย่างจะขึ้นอยู่กับองค์กรที่เรานำเงินไปลงทุนด้วย โดยกองทุนรวมจะเป็นผู้แบ่งผลประโยชน์ตามสัดส่วนที่ควรจะได้รับด้วยตัวเอง เหมาะกับคนที่อยากได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น แต่ไม่มีเวลามาจัดการหรือดูแลด้วยตัวเอง แต่ทั้งนี้ ผู้ลงทุนก็ควรตรวจสอบและพิจารณาองค์กรที่เลือกลงทุนก่อนเสมอว่า มีความน่าเชื่อถือและมีความสามารถในการบริหารจัดการที่ดีหรือไม่

5. ทำธุรกิจส่วนตัว และซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์

เป็นประเภทการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงที่สุด โดยการลงทุนประเภทนี้จะต้องอาศัยความชำนาญ การวางแผนที่กว้างและรอบคอบ รวมถึงศึกษาข้อมูล และวิเคราะห์สภาพเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ สำหรับในส่วนของการทำธุรกิจส่วนตัวนั้นก็ต้องอาศัยการวางแผน ความชำนาญ และการศึกษาข้อมูลร่วมกับการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์กับความต้องการของคนในปัจจุบันด้วยเช่นกัน ซึ่งคนที่ต้องการมาลงทุนประเภทนี้จะต้องเป็นคนที่กล้าได้กล้าเสีย สามารถยอมรับความเสี่ยงสูงที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และควรเป็นบุคคลที่มีสภาวะทางการเงินดีพอสมควร เนื่องจากหากขาดทุนในการลงทุนประเภทนี้แล้ว จะเป็นการขาดทุนจำนวนมากจนทำให้เกิดสภาวะการเงินขัดคล่องได้

ทั้งนี้ แน่นอนว่าทุกการลงทุนนั้นมีความเสี่ยงอยู่เสมอ ไม่ว่าจะระดับต่ำ ระดับกลาง หรือระดับสูง หากคุณเลือกลงทุนทั้งที่ยังไม่มีความรู้หรือเลือกลงทุนเพราะเกิดจากคำชักชวน แน่นอนว่าความเสี่ยงที่จะตามมาจากความไม่รู้ ไม่เชี่ยวชาญนั้นย่อมมีมากกว่า

ดังนั้น ผู้ลงทุนควรพิจารณาความสามารถในการลงทุน และเลือกลงทุนให้เหมาะสม นอกจากนี้ผู้ลงทุนยังควรศึกษาและเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนก่อนเสมอ หรือขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้การลงทุนนั้นไม่สูญเปล่า และสามารถสร้างผลกำไรตอบแทนกลับมาได้

สามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนได้ที่: https://investgunter.com/what-is-investment/

การลงทุนคืออะไร?

Next article