“เงินเฟ้อ” คงจะเป็นคำที่เราเห็นกันบ่อยๆ ตามข่าวเศรษฐกิจ บทเรียน หรือในชีวิตประจำวัน ซึ่งสำหรับนักลงทุนนั้น “เงินเฟ้อ” เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลและมีความสำคัญต่อการลงทุนมากพอสมควร ทำให้ผู้ที่กำลังตัดสินใจลงทุนในกิจการหรือสินทรัพย์ใดๆ ควรศึกษาเกี่ยวกับเงินเฟ้อให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อให้สามารถตัดสินใจลงทุนในช่วงเวลาหรือโอกาสที่เหมาะสมและเพื่อให้สามารถได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสมกลับมา แต่ทั้งนี้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ “เงินเฟ้อ” ไม่ได้เป็นประโยชน์เฉพาะกับนักลงทุนเพียงเท่านั้น แต่สำหรับบุคคลทั่วไปอีกด้วย การทราบและเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ จึงทำให้คุณสามารถเตรียมความพร้อมเพื่อรับการเปลี่ยนแปลงด้านการเงินได้ทันการ ซึ่ง “เงินเฟ้อ” คืออะไร? และมีความสำคัญอย่างไร? วันนี้เราจะมาบอกคุณเอง
เงินเฟ้อ (Inflation) คืออะไร?
เงินเฟ้อ หมายถึง ภาวะที่ระดับราคาของสินค้าหรือบริการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับค่าเงินที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ต้องใช้เงินจำนวนมากขึ้นในการซื้อสินค้าหรือบริการ อธิบายง่ายๆ คือ สินค้ามีราคาแพงขึ้นนั่นเอง
สาเหตุของการเกิดเงินเฟ้อ
1.ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น (Cost-Push Inflation)
เกิดจากการที่ต้นทุนทางการผลิตสูงขึ้น เช่น มีการขึ้นค่าแรง วัตถุดิบแพงขึ้น การเก็บภาษีมากขึ้น เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาสินค้าหรือบริการเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อตามมานั่นเอง
2.ความต้องการซื้อที่มากขึ้น (Demand-Pull Inflation)
เกิดจากการที่ผู้บริโภคมีความต้องการสินค้ามากกว่าสินค้าที่มีอยู่ในตลาด ทำให้สินค้าผลิตไม่ทันหรือไม่เพียงพอ ทำให้ผู้ประกอบการใช้โอกาสนี้ในการปรับราคาสินค้าหรือบริการให้สูงขึ้น
ผลกระทบจากเงินเฟ้อ
1.ต่อประชาชน
– มีอำนาจในการซื้อสินค้าหรือบริการที่น้อยลง เนื่องจากรายจ่ายหรือค่าครองชีพที่สูงขึ้น
– เงินเฟ้อที่สูงขึ้นจะทำให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงลดลงตามไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1.5% ต่อปี แต่ในระหว่างนั้นมีอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมา 1% เมื่อนำอัตราดอกเบี้ยมาหักอัตราเงินเฟ้อออก ก็จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเพียงแค่ 0.5% ต่อปีเท่านั้น
2.ต่อผู้ประกอบการ/นักธุรกิจ/นักลงทุน
– ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องขึ้นราคาสินค้าหรือบริการ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ยอดขายลดลง และในขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการบางราย อาจจะต้องมีการชะลอการผลิต เพื่อลดต้นทุน ส่งผลให้มีคนตกงานมากขึ้น
– ราคาสินค้าส่งออกที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศลดลง
-เมื่อมีอัตราเงินเฟ้อสูง ธนาคารมักจะขึ้นดอกเบี้ย เพื่อให้อุปสงค์มวลรวมของประเทศลดลง ซึ่งจะทำให้นักลงทุน เลือกลงทุนน้อยลงในช่วงนั้นๆ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มสูงขึ้น อาจจะไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทนจากการลงทุนที่จะได้รับในขณะนั้น
3.ต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
– การพัฒนาศักยภาพการผลิตสินค้าในระยะยาวจะชะลอตัวลง เนื่องจากประชาชนมีกำลังในการซื้อน้อยลง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถขายสินค้าหรือบริการได้ จนต้องลดต้นทุนในการผลิตสินค้า
– ประชาชนหรือนักลงทุนจะหันไปเก็งกำไรในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเงินเฟ้อที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดปัญหาฟองสบู่ในสินทรัพย์ต่างๆ สะสม (Asset Price Bubble) และทำให้การเงินของประเทศเกิดความไม่สมดุล
“เงินเฟ้อ” ถือเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อคนทุกคน ดังนั้น การที่มีความรู้เกี่ยวกับเงินเฟ้อจะทำให้คุณสามารถเข้าใจสถานการณ์และสามารถเตรียมพร้อมรับมือได้ทัน ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนให้เข้าใจครบถ้วน เพื่อให้สามารถลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหากใครสนใจติดตามเรื่องราวหรือข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับการลงทุน ก็สามารถติดตามต่อได้ที่ Invest Gunter เพราะเราจะอัปเดตข้อมูลที่จะทำให้คุณสามารถพัฒนาไปเป็นนักลงทุนมืออาชีพได้อย่างมีคุณภาพ