การลงทุน

ลงทุนระหว่างประเทศ แบบไหน? เหมาะกับคุณ

การลงทุน

ในสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยที่ไม่มีความคล่องตัวแบบนี้ คงจะทำให้นักลงทุนเกิดความไม่มั่นใจที่จะลงทุนในประเทศไทย และเลือกที่จะไปลงทุนในต่างประเทศแทน ซึ่งการลงทุนระหว่างประเทศสามารถแบ่งการลงทุนได้ 2 ประเภทคือ การลงทุนทางตรง และการลงทุนทางอ้อม แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักการลงทุนทั้ง 2 ประเภท เรามาทำความเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของการลงทุนระหว่างประเทศกันก่อนดีกว่า

ความหมายของการลงทุนระหว่างประเทศ

การลงทุนระหว่างประเทศคือ การที่นักลงทุนจากประเทศหนึ่ง นำเงินทุน ทรัพย์สิน หรือเทคโนโลยีไปลงทุนในอีกประเทศ โดยจะต้องได้รับการพิจารณา และอนุมัติข้อตกลงจากประเทศที่ต้องการไปลงทุนก่อนเริ่มลงทุนจริง ซึ่งการลงทุนระหว่างประเทศเป็นการลงทุนที่มีอัตราความเสี่ยงสูง เพราะนอกจากความเสี่ยงที่จะต้องเจออยู่แล้ว ยังมีปัจจัยเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ปัญหาระหว่างประเทศ และกฎหมายของประเทศนั้นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นผู้ลงทุนจึงควรศึกษาและเข้าใจ รวมถึงมีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการลงทุนระหว่างประเทศก่อนจะตัดสินใจลงทุน ซึ่งการทุนระหว่างประเทศสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การลงทุนทางตรงและการลงทุนทางอ้อม

การลงทุนทางตรงคืออะไร?

การลงทุนทางตรง หมายถึง การที่ผู้ลงทุนเคลื่อนย้ายทุนจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่ง โดยคาดหวังว่าจะได้กำไรหรือผลประโยชน์จากการลงทุนนั้นๆ ซึ่งเจ้าของทุนจะยังมีอำนาจในการดูแลกิจการนั้นอยู่ ส่วนมากแล้วจะเป็นการลงทุนในรูปแบบของการดำเนินงานโดยวิสาหกิจ และมีสถาบันการเงินของเอกชนเป็นผู้จัดหาทุน โดยจะเป็นการลงทุนในรูปแบบของบริษัทข้ามชาติ (Multinational Corporations) คือ มีบริษัทแม่ตั้งอยู่ในประเทศที่เป็นต้นทุน และมีบริษัทเครือข่ายอยู่ในประเทศอื่น (ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา, เยอรมัน, ญี่ปุ่น, ฝรั่งเศส เป็นต้น)

การลงทุนทางอ้อมคืออะไร?

การลงทุนทางอ้อม หมายถึง การลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการเงินเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการซื้อตราสารหนี้ ตราสารหุ้น ทั้งในรูปแบบของพันธบัตรและตั๋วเงิน รวมถึงการกู้เงินจากต่างประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วยเช่นกัน โดยผู้ลงทุนจะไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการหรือดูแลกิจการนั้นๆ ซึ่งการลงทุนในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นแบบปัจเจกบุคคลหรือกองทุนต่างๆ ที่คาดหวังว่าจะได้ผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุน แต่การลงทุนในลักษณะนี้ ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง นักลงทุนจึงต้องคำนวณความเสี่ยงเพื่อเตรียมพร้อมในการรับมือกับความเสี่ยงนั้นด้วย

ปัจจัยที่ต้องพิจารณาในการเลือกลงทุน

แน่นอนว่าก่อนจะตัดสินใจลงทุนในต่างประเทศ ผู้ลงทุนควรพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนก่อนเสมอ เพื่อให้การลงทุนในครั้งนั้น เหมาะสมกับตัวนักลงทุนมากที่สุด โดยประกอบไปด้วย 6 ปัจจัย ดังนี้

1.อุปนิสัยของผู้ลงทุน

หากนักลงทุนไม่ได้ให้ความสนใจกับการลงทุน เป็นคนที่ไม่มีการวางแผน รวมถึงไม่มีความรู้เกี่ยวกับการลงทุนในต่างประเทศเลย ย่อมทำให้การเลือกลงทุนในต่างประเทศนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะอุปนิสัยของผู้ลงทุนที่ดูไม่มีความน่าเชื่อถือ และดูไม่จริงจัง ทำให้ประเทศที่ต้องการไปลงทุนไม่อยากเสี่ยงที่จะอนุมัติการลงทุนให้

2.ขนาดของจำนวนเงินที่ลงทุน

ผู้ลงทุนควรพิจารณาขนาดของจำนวนเงินที่ลงทุนก่อนทุกครั้ง ว่ามีความสมเหตุสมผล และอยู่ในจำนวนที่สามารถลงทุนได้จริงหรือไม่

3.ผลตอบแทนจากการลงทุน

แน่นอนว่าเมื่อลงทุนไปแล้ว ก็ต้องหวังผลตอบแทนที่คุ้มค่า โดยผู้ลงทุนจะต้องวิเคราะห์ตลาดและเศรษฐกิจของประเทศที่จะลงทุนก่อน ว่าหากลงทุนไปแล้ว จะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าหรือไม่ รวมถึงศึกษาเงื่อนไขการลงทุนของประเทศนั้นๆ ด้วย

4.ระดับความเสี่ยงในการลงทุน

นอกจากผลตอบแทนที่ต้องคำนึงถึงแล้ว อัตราความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนต้องเจอก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะต้องมีการพิจารณาให้ถี่ถ้วน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีแผนรองรับและเตรียมพร้อมรับความเสี่ยงนั้นๆ ได้ทัน

5.สภาพคล่องของเงินลงทุน

เพราะการลงทุนนั้นมีความไม่แน่นอนและมีความเสี่ยงสูง ผู้ลงทุนจึงควรพิจารณาสภาพคล่องทางการเงินของตนเองก่อนลงทุน รวมถึงควรแบ่งเงินทุนสำรองเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินด้วย

6.การกระจายเงินลงทุน

ควรวางแผนการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยง เพื่อไม่ให้ผู้ลงทุนขาดทุนอย่างหนักจากการลงทุนอย่างใดอย่างหนึ่งมากจนเกินไป โดยเลือกลงทุนผสมกันระหว่างการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง กลาง และต่ำ

แม้ว่าการลงทุนระหว่างประเทศจะเป็นโอกาสที่ดีในการขยายฐานลูกค้าและเพิ่มโอกาสในการลงทุน แต่ก็ต้องแลกมากับอัตราความเสี่ยงที่สูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผู้ที่เลือกลงทุนในต่างประเทศ ควรเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน และมีการเตรียมความพร้อมก่อนการลงทุนระหว่างประเทศมากพอสมควร

หากสนใจติดตามเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับการลงทุน Invest Gunter พร้อมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และครอบคลุมเกี่ยวกับการลงทุน เพื่อให้คุณเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุน และสามารถลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เลือกลงทุนแบบไหน ให้เหมาะกับคุณ?

Previous article

10 คำคมเติมไฟ สร้างแรงบันดาลใจการลงทุน

Next article