การลงทุน

ทำความรู้จักตราสารหนี้ และความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้

ตราสารหนี้

ตราสารหนี้ หรือ Bond เป็นสิ่งที่หลายคนคงจะเคยได้ยินผ่านการฟังข่าวสารทางโทรทัศน์ ซึ่งตราสารหนี้ถือเป็นหนึ่งในประเภทการลงทุนที่น่าสนใจ เนื่องจากถือเป็นการลงทุนที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับตัวนักลงทุนได้เป็นอย่างดี แน่นอนว่าสำหรับนักลงทุนมืออาชีพคงจะรู้จักและคุ้นเคยกับตราสารหนี้อยู่แล้ว แต่สำหรับนักลงทุนมือใหม่หรือผู้ที่สนใจการลงทุนในตราสารหนี้ อาจจะยังมีเรื่องที่ต้องศึกษาเพิ่มเติมกันอีกมากมายพอสมควร ซึ่งในวันนี้ เราจะขอพานักลงทุนมือใหม่มาทำความรู้จักตราสารหนี้ และความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้ เพื่อให้คุณสามารถตัดสินใจซื้อตราสารหนี้ได้อย่างเข้าใจที่สุด

ตราสารหนี้คืออะไร?

ตราสารหนี้คือ ตราสารการลงทุนประเภทหนึ่งที่ผู้ออกตราสารหนี้ เช่น รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ บริษัทเอกชน มีสถานะเป็น “ลูกหนี้” และนักลงทุนที่เข้ามาซื้อตราสารหนี้จะมีสถานะเป็น “เจ้าหนี้” โดยจะมีการจ่ายรายได้คงที่รวมถึงดอกเบี้ยให้กับนักลงทุน โดยตราสารหนี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ พันธบัตรรัฐบาล และ ตราสารหนี้เอกชนหรือหุ้นกู้เอกชน

ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ประกอบไปด้วย ดอกเบี้ยตราอัตราที่ระบุไว้ และกำไรหรือขาดทุนจากการขาย ในกรณีที่ผู้ลงทุนขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนดเวลา  โดยขึ้นอยู่กับราคาตลาดที่ซื้อ-ขายกันในขณะนั้น

ประเภทของตราสารหนี้

1.พันธบัตรรัฐบาล

เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการออกเพื่อระดมทุนสำหรับก่อสร้างสะพาน ทางด่วน โรงเรียน เป็นต้น เหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการรักษาเงินต้นเอาไว้ เนื่องจาก พันธบัตรรัฐบาลมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ต่ำมาก

2.ตราสารหนี้เอกชน หรือหุ้นกู้เอกชน

เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชน เพื่อเพิ่มทุนให้กับบริษัทของตัวเอง เช่น บริษัทในกลุ่มธนาคาร สาธารณูปโภค อุตสาหกรรม เป็นต้น โดยผู้ลงทุนควรพิจารณาอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ในระดับที่เหมาะสมสำหรับการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุนเสมอ

ความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้

1.ความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้ (Default Risk)

เป็นความเสี่ยงจากการที่ผู้ออกตราสารหนี้ ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ตามกำหนดเวลาที่ตกลงกันไว้ ซึ่งรวมถึงเงินต้นและดอกเบี้ย และเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้ ผู้ลงทุนควรพิจารณาตราสารหนี้ที่เลือกก่อนตัดสินใจลงทุน เช่น ตรวจสอบสถานะการเงินของบริษัทที่ออกตราสารหนี้เอกชน หรือ ตรวจสอบสถานะความมั่นคงของประเทศนั้นๆ ในกรณีที่ลงทุนในพันธบัตร

2.ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Risk)

เนื่องจากตราสารหนี้จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายไว้ล่วงหน้าตลอดอายุการลงทุนอยู่แล้ว แต่หากอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดเพิ่มขึ้นจนมีอัตราสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ตราสารหนี้กำหนดไว้ ก็จะทำให้ราคาของตราสารหนี้ลดลง เพราะมีทางเลือกอื่นที่ทำให้ได้ผลตอบแทนมากกว่า ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรถือตราสารหนี้ให้ครบกำหนด เพื่อลดความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย

3.ความเสี่ยงจากสภาพคล่อง (Liquidity Risk)

เกิดจากการที่ตราสารหนี้ ไม่มีสภาพคล่องในตลาด เมื่อนักลงทุนต้องการขายตราสารหนี้ก็อาจขายไม่ได้ในเวลาหรือราคาที่ต้องการ แต่หากนักลงทุนต้องการถือตราสารหนี้จนครบกำหนด ก็จะไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงจากสภาพคล่อง

4.ความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ (Inflation Risk) 

หากนักลงทุนตัดสินใจลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนคงที่ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ลงทุนได้รับอัตราผลตอบแทนลดลง แต่ทั้งนี้ ผู้ลงทุนก็สามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากเงินเฟ้อได้ โดยการเลือกลงทุนในตราสารหนี้ชดเชยเงินเฟ้อ หรือตราสารหนี้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว เป็นต้น

การลงทุนในตราสารหนี้ ถือเป็นการลงทุนที่ไม่ซับซ้อนและมีความเสี่ยงในระดับที่พอรับได้ แต่หากสนใจการลงทุนในตราสารหนี้ควรศึกษาเกี่ยวกับตราสารหนี้และปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลตอบอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ให้เข้าใจอย่างละเอียดก่อนเสมอ และก่อนตัดสินใจลงทุนในตราสารหนี้ ก็ควรจะมีการพิจารณาและตรวจสอบบริษัทหรือองค์กรที่ออกตราสารหนี้ให้ถี่ถ้วน เพื่อลดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ และหากใครสนใจติดตามเรื่องราวหรือข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับการลงทุน ก็สามารถติดตามต่อได้ที่ Invest Gunter เพราะเราจะอัปเดตข้อมูลที่จะทำให้คุณสามารถพัฒนาไปเป็นนักลงทุนมืออาชีพได้อย่างมีคุณภาพ

มีเงินแสน ลงทุนอะไรดี?

Previous article

การลงทุนแบบ DCA คืออะไร ดีจริงไหม?

Next article