หากคุณสังเกตเกี่ยวกับการลงทุน ไม่ว่าจะในสินทรัพย์ กองทุน หรือหุ้นต่างๆ มักจะใช้คำศัพท์ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร หลายคนที่ไม่รู้คำศัพท์เหล่านั้น ก็คงจะต้องเปิดโปรแกรมแปลภาษากันมือระวิงแน่ๆ ซึ่งคำศัพท์ภาษาอังกฤษเหล่านี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่ต้องการจริงจังในด้านการลงทุน และเพื่อให้คุณสามารถเข้าใจและมีคลังคำศัพท์พร้อมใช้มากมายอยู่ในหัว วันนี้เราจึงรวบรวมเอา 20 คำศัพท์เกี่ยวกับการลงทุนที่ต้องรู้มาให้คุณติดตามกันแบบง่ายๆ
Asset Allocation: การจัดสรรเงินลงทุนไปลงในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เพื่อหาผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และช่วยลดความเสี่ยงของกลุ่มหลักทรัพย์ เมื่อกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่างๆ
At the Open (ATO) / At the Close (ATC): คำสั่งซื้อ-ขายหลักทรัพย์ ณ ราคาเปิด/ปิดตลาด ใช้เมื่อผู้ลงทุนต้องการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ในเวลาที่เปิดหรือปิดตลาดเท่านั้น
Ceiling & Floor: ราคาเสนอซื้อ-เสนอขาย ที่สูงสุดและต่ำสุดของตลาดหลักทรัพย์
Value Investment (VI): กลุ่มนักลงทุนที่เข้าซื้อหุ้นในช่วงที่ราคาไม่สูงมาก และไม่หวังส่วนต่างกำไรจากการถือหุ้นในระยะสั้น
Arbitrage: การทำกำไรจากผลต่างของราคาใน 2 ตลาด คือ การซื้อสินค้าในตลาดที่มีราคาถูกกว่า และในขณะเดียวกันก็สั่งซื้อสินค้าในประเภทและจำนวนเดียวกัน ในตลาดที่มีราคาสูงกว่า เพื่อรับผลกำไรจากส่วนต่างของราคาใน 2 ตลาด
Closed-end Fund (กองทุนปิด): กองทุนรวมประเภทไม่รับซื้อคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดโครงการ โดยจะเปิดขายหน่วยลงทุนเพียงครั้งเดียวเมื่อเริ่มโครงการ และจะรับไถ่ถอนคืนหน่วยลงทุนก็ต่อเมื่อกองทุนหมดอายุเท่านั้น
Bear Market: หรือที่เรียกกันว่าตลาดหมี เป็นช่วงที่ราคาหุ้นลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และมีปริมาณการซื้อขายน้อย เปรียบเสมือนการเคลื่อนไหวที่เชื่องช้าของหมี
Bull Market: หรือที่เรียกว่าตลาดกระทิง เป็นช่วงที่ราคาหุ้นมีระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และมีปริมาณการซื้อขายมาก มีสภาพคล่องสูง เปรียบเสมือความเคลื่อนไหวที่คึกคักของกระทิง
Association of Investment Management Companies (AIMC): สมาคมบริษัทจัดการลงทุน
Broker: นายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ คือ บริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ โดยจะทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ให้แก่ผู้ลงทุน โดยได้รับค่าธรรมเนียมหรือค่านายหน้าจากผู้ลงทุนเป็นผลตอบแทน
Capital Market (ตลาดทุน): คือ แหล่งระดมเงินออมและให้สินเชื่อระยะยาวตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งสามารถหาเงินทุนได้จาก 2 แหล่งคือ ตลาดตราสารทุน และตลาดตราสารหนี้
Bond: พันธบัตรหรือตราสารหนี้ทั่วไปที่ออกโดยรัฐบาล เพื่อกู้เงินจากนักลงทุนโดยตรง ผู้ถือตราสารหนี้จะมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และจะได้รับดอกเบี้ยตอบแทนเป็นงวดๆ
Circuit Breaker: มาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์นำมาใช้ เพื่อหยุดการซื้อ-ขายหลักทรัพย์ชั่วคราวในบางกรณี เช่น การซื้อ-ขายหลักทรัพย์โดยรวมในตลาดหลักทรัพย์ ลดต่ำลงมากจนผิดปกติ เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนตรวจสอบข้อมูลและข่าวสารต่างๆ ก่อนจะกลับมาเปิดให้ทำการซื้อ-ขายหลักทรัพย์อีกครั้ง
Dividend Yield (อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล): ตัวชี้วัดที่ทำให้นักลงทุนทราบว่า หากลงทุนซื้อหุ้นในระดับราคาในตลาดปัจจุบัน จะมีโอกาสได้รับเงินปันผลตอบแทนจากการลงทุน ในอัตราคิดเป็นร้อยละเท่าไรจากราคาหุ้นที่ซื้อ
Earning per Share (EPS): กำไรต่อหุ้น ซึ่งมาจากผลกำไรสุทธิของบริษัทหารด้วยจำนวนหุ้นสามัญที่เรียกชำระแล้วของบริษัท
Gross Domestic Product (GDP): มูลค่าตลาดของสินค้าและบริการชั้นสุดท้ายที่ถูกผลิตในประเทศในช่วงเวลาหนึ่ง
Net Asset Value (NAV): มูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของกองทุนรวม ซึ่งรวมไปถึงผลประโยชน์ต่างๆ ที่กองทุนรวมได้รับจากการลงทุนตามราคาตลาดในขณะใดขณะหนึ่ง หักออกด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้สินของกองทุนรวมนั้นๆ
Prospectus (หนังสือชี้ชวน): เอกสารสำคัญที่บริษัทจัดการลงทุนต้องจัดทำขึ้น เพื่อเปิดเผยข้อมูล รายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทหรือกองทุนรวมให้แก่ผู้ลงทุนทราบ เช่น ประเภทกองทุนรวม นโยบายการลงทุน ผลประกอบการณ์ในอดีตและที่คาดการณ์ว่าจะเป็นไปในอนาคต ปัจจัยความเสี่ยง เป็นต้น
Portfolio (พอร์ตการลงทุน): กลุ่มหลักทรัพย์ทั้งหมดในความครอบครองของผู้ลงทุนรายใดรายหนึ่ง ซึ่งจะต้องประกอบไปด้วยหลักทรัพย์จำนวนตั้งแต่ 2 ชนิด หรือ 2 บริษัทขึ้นไป วัตถุประสงค์ในการสร้าง Portfolio ของนักลงทุน ก็เพื่อลดความเสี่ยงในการลงทุนด้วยการกระจายการลงทุนในหลักทรัพย์ของหลายกิจการ/ประเภท
Silent Period (ช่วงเวลาห้ามขายหุ้น): ช่วงระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ห้ามผู้ถือหุ้นรายใหญ่หรือผู้เกี่ยวข้องกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนใหม่ นำหุ้นบริษัทดังกล่าวที่ตนถือครองอยู่ออกขาย โดยมักจะมีช่วงเวลาประมาณ 6 เดือน นับตั้งแต่วันแรกที่ให้มีการซื้อ-ขายในตลาดหลักทรัพย์ หรือนานกว่า 6 เดือนแต่ไม่เกิน 3 ปี
แม้ว่า 20 คำศัพท์เกี่ยวกับการลงทุนที่ต้องรู้ ที่เราได้รวบรวมมา จะเป็นเพียงบางส่วนของคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนทั้งหมด แต่เชื่อว่าก็คงจะทำให้หลายคนเข้าใจ และมีคำศัพท์ในคลังเพิ่มมากขึ้น สำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการลงทุน แต่อย่าลืมศึกษาเกี่ยวกับการลงทุนให้เชี่ยวชาญ รวมถึงศึกษาคำศัพท์ต่างๆ เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจการลงทุนได้อย่างถ่องแท้ และหากใครสนใจติดตามเรื่องราวหรือข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับการลงทุน ก็สามารถติดตามต่อได้ที่ Invest Gunter เพราะเราจะอัปเดตข้อมูลที่จะทำให้คุณสามารถพัฒนาไปเป็นนักลงทุนมืออาชีพได้อย่างมีคุณภาพ