ลำดับพิธีการแต่งงานแบบไทยในสมัยปัจจุบัน มีความแตกต่างจากการจัดงานแต่งงานในสมัยโบราณค่อนข้างมาก เพราะมีการถูกปรับให้เรียบง่าย กระชับ และเสร็จสิ้นภายในวันเดียว แต่ยังคงรักษาพิธีการแต่งงานตามธรรมเนียมไทยที่สืบต่อกันมา
โดยส่วนใหญ่ พิธีการแต่งงานแบบไทยจะนิยมจัดพิธีหมั้นในช่วงเช้า และจัดงานเลี้ยงวิวาห์ ในช่วงเย็น สำหรับบ่าวสาวที่กำลังวางแผนจัดพิธีแต่งงานแบบไทยโบราณในช่วงเช้า บทความนี้ ได้ลิสต์ลำดับพิธีมาให้แล้ว เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา เราไปดูกัน
-
พิธีสงฆ์
ขึ้นชื่อว่าเป็นพิธีมงคลสมรส ก็ต้องเริ่มต้นวันด้วยการทำสิ่งที่เป็นมงคล นั่นก็คือการทำบุญตักบาตรตอนเช้า ซึ่งคนไทยมีความเชื่อว่าหากคู่รักคู่ไหนได้ทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขัน ชาติหน้าก็จะเกิดมาเป็นคู่รักกันอีก
-
พิธีแห่ขันหมาก
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีสงฆ์ ก็จะต่อด้วยพิธีแห่ขันหมาก ซึ่งถือว่าเป็นพิธีที่ให้ความเคารพต่อตัวเจ้าสาว และครอบครัวฝ่ายหญิง อีกทั้งยังเป็นพิธีต้อนรับเจ้าบ่าวเข้าสู่ครอบครัวของเจ้าสาวอีกด้วย โดยระยะทางของพิธีแห่ขันหมากก็แล้วแต่สถานที่แต่งงานจะเอื้ออำนวย
-
พิธีสู่ขอ
เมื่อผ่านพ้นประตูเงินประตูทองมาได้ จะเข้าสู่ช่วงของพิธีสู่ขอโดยให้ทางพ่อแม่ของฝ่ายเจ้าบ่าว และเจ้าสาวขึ้นมานั่งบนเวที ซึ่งฝั่งผู้ใหญ่ของเจ้าบ่าวจะต้องนั่งอยู่ทางฝั่งขวา และผู้ใหญ่ของทางเจ้าสาวจะนั่งอยู่ทางฝั่งซ้าย
จากนั้นผู้ใหญ่ทางฝั่งเจ้าบ่าวจะกล่าวแนะนำตัว และกล่าวสู่ขอเจ้าสาวให้กับฝ่ายชาย ต่อมาก็เชิญผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงตรวจนับสินสอดพอเป็นพิธี และให้ผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่าย ทำการโรยถั่วงา และข้าวเปลือกต่าง ๆ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นของมงคลในงานแต่ง พร้อมกับอวยพรคู่บ่าวสาว
-
พิธีสวมแหวนหมั้น
ในพิธีสวมแหวนหมั้น เจ้าบ่าวจะเริ่มสวมแหวนที่นิ้วนางข้างซ้ายของเจ้าสาวก่อน ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้เจ้าสาวอาจจะก้มกราบที่ตัก หรืออกของเจ้าบ่าว หรือไม่ก็ได้ ต่อมาฝ่ายเจ้าสาวจึงค่อยสวมแหวนที่นิ้วของเจ้าบ่าว
-
พิธีรับไหว้
เมื่อผ่านพิธีสวมแหวนหมั้นเรียบร้อย จะมีการเชิญผู้ใหญ่ของทางบ่าวสาวขึ้นมาทีละคู่ โดยทางเจ้าบ่าว และเจ้าสาวจะต้องก้มกราบพ่อแม่ของแต่ละครอบครัว 3 ครั้ง โดยทางผู้ใหญ่จะรับไหว้ และทำการผูกข้อไม้ข้อมือให้ เพื่อความเป็นสิริมงคล
-
พิธีเจิมหน้าผาก
ขั้นตอนนี้ทางผู้ใหญ่หรือประธานในพิธีแต่งงานจะต้องเป็นผู้สวมพวงมาลัย และสวมมงคลให้กับบ่าวสาว รวมไปถึงการเจิมหน้า แต่บางครั้งก็จะให้ประธานสงฆ์เจิมหน้าผากเจ้าบ่าว และส่งต่อให้เจ้าบ่าวเจิมหน้าผากเจ้าสาวต่อ
-
พิธีรดน้ำสังข์
พิธีรดน้ำสังข์ เรียกอย่างเป็นทางการว่าพิธีหลั่งน้ำพระพุทธมนต์ และประสาทพร ซึ่งประธานในพิธีที่สวมมงคลให้คู่บ่าวสาวจะเป็นคนเริ่มรดน้ำสังข์ให้กับคู่รักก่อน ตามด้วยพ่อแม่ของแต่ละฝ่าย ญาติผู้ใหญ่ และผู้ที่มาร่วมงานคนอื่น ๆ โดยระหว่างที่รดน้ำสังข์ผู้ที่รดจะกล่าวอวยพรให้กับคู่บ่าวสาวไปด้วย
-
พิธีส่งตัวเจ้าสาว
สำหรับพิธีส่งตัวเจ้าสาว จะเรียกว่าพิธีเรียงหมอน หรือพิธีปูที่นอน โดยจะให้ผู้ใหญ่ที่ได้รับความเคารพ และมีครอบครัวที่สมบูรณ์แบบเป็นผู้ดำเนินการ เริ่มจากปูผ้าคลุมเตียงที่ซื้อมาใหม่ จัดเรียงหมอน 2 ใบให้เข้าที่ โรยข้าวตอก และพืชมงคลต่าง ๆ ตามความเชื่อลงบนที่นอน แล้วปล่อยให้คู่บ่าวสาวนอนลงที่เตียง และใช้เวลาร่วมกันตามลำพัง
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันลำดับพิธีแต่งงานแบบไทยโบราณ ก็สามารถดัดแปลงได้ตามความเหมาะสม โดยแนะนำให้ลองปรึกษากับครอบครัวทั้งสองฝ่าย ว่าต้องการให้พิธีไหนอยู่ในงานแต่งบ้าง เพื่อให้งานแต่งกระชับ และราบรื่นยิ่งขึ้น
เทคนิค เลือกสถานที่จัดงานแต่งงานให้ตรงใจ ผ่านโลกออนไลน์
ขอบคุณข้อมูลจาก https://seesarinstudio.com/th/